วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2556

AEC

  ประเทศอาเซียน


ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ( AEC ) คือ อะไร? ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economics Community – AEC) เป็นเป้าหมายการรวมตัวกันของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย พม่า ลาว เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และ บรูไน เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองกับคู่ค้า และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจระดับโลก รวมถึงมีการยกเว้นภาษีสินค้าบางชนิดให้กับประเทศสมาชิก ส่งเสริมให้ภูมิภาคมีความเจริญมั่งคั่ง มั่นคง ประชาชนอยู่ดีกินดี

       ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ถือว่าเป็นหนึ่งเสาหลักที่สำคัญในประชาคมอาเซียน ที่ประเทศสมาชิกลงนามในปฏิญญาให้เป็นประชาคมเดียวกันโดยมีผลในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558
การรวมตัวเป็นประชาคมของอาเซียนส่งผลดีและผลเสียต่อไทย แต่สิ่งหนึ่งที่จะทำให้การเปิดประชาคมเป็นประโยชน์ต่อไทยนั้นคือ การสร้างความเชื่อมโยงในอาเซียน ซึ่งจำเป็นต่อการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน เพราะการรวมตัวเป็นประชาคมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประชาชนไปมาหาสู่กันได้ อย่างสะดวก และมีการเคลื่อนย้ายสินค้าจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่งโดยเสรี
การสร้างความเชื่อมโยงของอาเซียนคือ การทำให้ประชากรและสินค้าเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนได้โดยเสรี อาเซียนจึงต้องพัฒนาทั้งโครงสร้างการคมนาคมพื้นฐาน และกฎเกณฑ์การผ่านแดนควบคู่กันไป ในส่วนของโครงสร้างการคมนาคมพื้นฐาน อาเซียนมีแผนที่จะตัดทางหลวงและเส้นทางรถไฟหลายเส้น ไม่ว่าจะเป็นถนนจากท่าเรือน้ำลึกทวายในฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรอินโดจีนไปสู่ท่าเรือดานังในฝั่งตะวันออก ถนนเชื่อมตอนใต้ของประเทศจีนสู่ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังในไทย หรือทางรถไฟเชื่อมจากสิงคโปร์สู่ชายแดนลาว-จีน ฯลฯ นอกจากนี้ ยังรวมถึงการสร้างความเชื่อมโยงทางทะเลระหว่างประเทศสมาชิกที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเกาะ โดยแม้ไทยจะไม่ได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากการสร้างความเชื่อมโยงทางทะเลนี้ แต่ผู้คนและสินค้าที่จะเคลื่อนย้ายทางบกจากคาบสมุทรอินโดจีนสู่ประเทศที่เป็นเกาะดังกล่าวจะต้องผ่านไทย เพราะไทยเป็นทางผ่านทางบกเพียงเส้นทางเดียวสู่มาเลเซีย ในส่วนของกฎเกณฑ์การผ่านแดน อาเซียนกำลังกระตุ้นให้แต่ละประเทศสมาชิกผ่านกฎหมายว่าด้วยการอำนวยความสะดวกการผ่านแดนของประชากรและการขนส่งสินค้า
ไทยได้ประโยชน์จากการสร้างความเชื่อมโยง โดยเฉพาะจากการเคลื่อนย้ายประชากรหรือสินค้าเพราะไทยได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ ประโยชน์โดยตรงที่ได้รับคือเส้นทางคมนาคมที่จะถูกเร่งให้สร้างขึ้น และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยรวมที่จะเกิดจากการใช้จ่ายของชาวต่างชาติที่เข้ามาในไทย นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ทางอ้อมที่จะเกิดขึ้นจากการที่ไทยตั้งอยู่บริเวณศูนย์กลางของประเทศสมาชิกอาเซียนภาคพื้นดิน คือทำให้มีช่องทางธุรกิจบริการมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงแรมที่ต้องรองรับประชากรที่เคลื่อนย้าย และบุคลากรที่ทำหน้าที่เคลื่อนย้ายสินค้า ธุรกิจการขนส่งที่ต้องรองรับการเคลื่อนย้ายสินค้าที่มากขึ้น หรือธุรกิจร้านค้าและการอำนวยความสะดวกต่างๆ นอกจากนี้ การได้เปรียบทางภูมิศาสตร์นี้ยังทำให้ไทยเนื้อหอมในสายตานักลงทุนต่างชาติ ถึงขนาดที่บทความหนึ่งในหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นให้สมญานามไทยว่าเป็น “หัวใจของอาเซียน”
การสร้างความเชื่อมโยงในอาเซียนจะส่งผลดีทางเศรษฐกิจต่อไทยอย่างมาก ซึ่งทำให้การเปิดประชาคมอาเซียนมีความสำคัญ เพราะยิ่งเปิดประชาคมได้สมบูรณ์เร็วเท่าไร ย่อมมีความเชื่อมโยงในอาเซียนเร็วขึ้นและมากขึ้นเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น